กันยายน 15, 2024

สวรส.จับมือศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ยกระดับการแก้ปัญหา-พัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ

1 0
Read Time:4 Minute, 37 Second

สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นฐานของประชากรข้ามพรมแดนยังคงเป็นปรากฏการณ์
ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงภาวะสงครามทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติเดินทางมาจากประเทศอื่น
ในภูมิภาคเพื่อเข้ามาทำงาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งนี้ข้อมูลจากรายงานของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ขออนุญาตทำงานในประเทศไทย จำนวน 3,084,852 คน โดยร้อยละ 75.5 เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา ร้อยละ 15.5 เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา ร้อยละ 8.7 เป็นแรงงานสัญชาติลาว และที่เหลือเป็นสัญชาติเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีผู้ติดตามแรงงาน เช่น สามี ภรรยา บิดามารดา บุตร ฯลฯ อีกร้อยละ 6.8 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ซึ่งการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคจะช่วยให้เกิดการยกระดับการแก้ปัญหา และพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 – แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศ Division of Global Migration Health program (TUC-DGMH) ภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งสำคัญ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ (Migrants Health) ให้บรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ตลอดจนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ณ ห้องประชุมสานใจ 1/1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า ไทยและสหรัฐมีความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขร่วมกันมานาน โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก โรคเมอร์ส ฯลฯ ในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนากำลังคน 2) การพัฒนาระบบสาธารณสุข 3) การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพ เช่น ห้องปฏิบัติการด้านโรคและภัยสุขภาพ และ 4) การบริหารจัดการโครงการโดยกระทรวงสาธารณสุข
จึงเชื่อว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ระหว่าง สวรส. และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศฯ (TUC-DGMH) จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพของประชากรข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรข้ามชาติได้อีกทางหนึ่ง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายหน่วยงานทั้งภาคสาธารณสุข ภาคแรงงาน ภาคความมั่นคงของประเทศ ภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และรักษาพยาบาลในกลุ่มประชากรข้ามชาติบนพื้นฐานแห่งมนุษยธรรม โดยไม่คำนึงถึงสถานะบุคคล เชื้อชาติ และศาสนา
เห็นได้จากข้อมูลในปี 2566 มีประชากรข้ามชาติเข้ารับบริการสาธารณสุขในสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 1.94 ล้านคน
เป็นผู้ป่วยนอก 1.69 ล้านคน ผู้ป่วยใน 0.25 ล้านคน ด้าน สวรส. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2026 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy: CCS) และมีการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด จึงจัดให้มีบันทึกความร่วมมือกันในครั้งนี้ ระหว่าง สวรส. และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศฯ (TUC-DGMH) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพที่เหมาะสมและเป็นธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนในระดับภูมิภาคที่คาดว่าจะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
Ms.Barbara Knust, DVM, MPH Director, Division of Global Migration Health Program, THE THAILAND MoPH – U.S.CDC COLLABORATION (TUC-DGMH) กล่าวว่า แผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศ ภายใต้ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นระยะ เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติ และป้องกันโรคติดต่อในประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งการทำงานร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเสริมสร้างและขยายขีดความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ และนำไปสู่การพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
คุณบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศทางผ่านและจุดหมายปลายทางหลักของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ซึ่งการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศและของภูมิภาค ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่ที่มีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมถึงกัน ควรต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคและภัยคุกคามสุขภาพ, การตอบโต้สถานการณ์ของโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดการด้านสุขภาพที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายระดับประเทศ และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ CCS สวรส. และแผนงานสุขภาพผู้อพยพระหว่างประเทศฯ (TUC-DGMH) จึงเห็นความสำคัญและพร้อมร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างและขยายขีดความสามารถในการประเมิน ป้องกัน ตลอดจนบรรเทาผลกระทบของภัยคุกคามทางด้านสุขภาพของผู้ย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมีความสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โดยความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นประเด็นที่มีลำดับความสำคัญสูง และเป็นความต้องการเร่งด่วนด้านสาธารณสุข ที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข และการพัฒนาด้านสุขภาพของทุกคนบนแผ่นดินไทย

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

About The Author